Canon history - Canon Thailand

ประวัติของเรา

แคนนอนเริ่มต้นจากการเป็นบริษัทเล็กๆที่มีพนักงานเพียงไม่กี่คนแต่มีความปรารถนาอันแรงกล้าในการสร้างผลงานอันยอดเยี่ยม ซึ่งในเวลาต่อมาแคนนอนก็ได้กลายเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกในด้านกล้องและอุปกรณ์การถ่ายภาพ ปัจจุบันนี้แคนนอนเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิตอุปกรณ์มัลติมีเดียระดับโลก เป็นระยะเวลายาวนานกว่า 7 ทศวรรษแล้วที่แคนนอนได้สั่งสมประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยี แคนนอนจะยังคงมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสร้างคุณประโยชน์ให้กับผู้คนทั่วโลกต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งไปพร้อมกับการพยายามบรรลุซึ่งเป้าหมายในการเป็นองค์กรธุรกิจที่มีคนรักทั่วโลก

จุดเริ่มต้นเล็กๆในห้องเล็กๆ

ในปี ค.ศ. 1933 อพาร์ทเม้นท์เล็กๆแห่งหนึ่งในย่านรปปงงิ ในกรุงโตเกียว ได้ถูกดัดแปลงเป็นห้องแล็บเพื่อการพัฒนากล้องถ่ายรูปคุณภาพสูง ในยุคนั้นกล้องถ่ายรูปคุณภาพดีจะเป็นสินค้าที่นำเข้ามาจากยุโรปโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศเยอรมัน และห้องเล็กๆนี้เองได้กลายเป็นสถานที่ที่คนรุ่นหนุ่มสาวที่มีฝันอันยิ่งใหญ่ในการผลิตกล้องถ่ายรูปคุณภาพเยี่ยมสัญชาติญี่ปุ่นได้ทำฝันของพวกเขาให้เป็นจริง และนี่คือจุดเริ่มต้นของตำนานแคนนอน ด้วยความอุตสาหะและกล้าได้กล้าเสีย พวกเขาก็สามารถสร้างกล้องต้นแบบได้สำเร็จและให้ชื่อว่า “Kwanon” ซึ่งเป็นชื่อของเทพเจ้าแห่งความเมตตาในศาสนาพุทธ (พระโพธิสัตว์กวนอิม) ต่อมาในปี 1935 กล้อง Hanza Canon ซึ่งเป็นกล้องถ่ายรูป 35มม. แบบ focal-plane-shutter ได้รับการผลิตขึ้นสำเร็จเป็นครั้งแรกในญี่ปุ่นและนั่นถือเป็นจุดกำเนิดของแคนนอนอย่างแท้จริง

มุ่งมั่น... ผลิตกล้องที่ดีที่สุดในโลก

ในปี 1950 มร. ทาเคชิ มิตะไร ประธานบริษัทคนแรกของแคนนอนได้เดินทางไปเยือนสหรัฐอเมริกาเพื่อเข้าร่วมงานแสดงสินค้าระหว่างประเทศเป็นครั้งแรก เมื่อท่านประธานได้เห็นความทันสมัยของโรงงานและคุณภาพชีวิตที่ดีของคนที่นั่นด้วยตัวเอง ท่านจึงได้เล็งเห็นว่าการที่แคนนอนจะประสบความสำเร็จในระดับโลกได้จะต้องมีโรงงานระดับมาตรฐาน เมื่อกลับมาถึงญี่ปุ่นท่านจึงได้สร้างโรงงานทนไฟ ซึ่งใช้คอนกรีตเสริมเหล็กเป็นวัสดุในการก่อสร้าง ในเขต Shimomaruko ของกรุงโตเกียว ในช่วงตลอดการทำงานท่านประธานได้แสดงให้เห็นถึงความเคารพนับถือในเพื่อนมนุษย์โดยย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของ “ซันจิ” (Sanji) หรือ “จิตวิญญาณสามประการ” ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติสำคัญของพนักงานแคนนอนทุกคน ในปี 1955 แคนนอนเริ่มเข้าสู่ตลาดโลกโดยการเปิดสำนักงานที่กรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในปี 1957 แคนนอนได้เปิดศูนย์จัดจำหน่ายสินค้าแห่งแรกในยุโรปโดยตั้งชื่อว่า Canon Europa ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และในปี 1967 รายได้จากการส่งออกของบริษัทก็เพิ่มขึ้นสูงกว่า 50% ของยอดขายของบริษัททั้งหมดได้เป็นครั้งแรก

ความท้าทายในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย

หลังจากเริ่มกิจการได้ไม่นาน ในปี 1941 ทีมงานของแคนนอนก็ทำงานกันอย่างหนักเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย โดยเริ่มจากการผลิตกล้องเอ็กซ์เรย์ตัวแรกของญี่ปุ่นได้เป็นผลสำเร็จ และขณะเดียวกันก็คิดค้นผลิตภัณฑ์อื่นๆไปด้วย ในช่วงทศวรรษที่ 60 แคนนอนยังพัฒนาการขยายประเภทของผลิตภัณฑ์ขึ้นเรื่อยๆโดยได้เพิ่มเทคโนโลยีด้านอิเล็กทรอนิกส์ ฟิสิกส์และเคมีให้กับเทคโนโลยีด้านจักษุกรรมขององค์กร ในปี 1964 แคนนอนได้เริ่มบุกตลาดอุปกรณ์สำนักงานโดยได้เปิดตัวเครื่องคิดเลขอิเล็กทรอนิกส์แบบ 10 ปุ่มตัวแรกของโลกขึ้น ต่อมาในปี 1967 จึงได้ประกาศสโลแกนในการบริหารงานของบริษัทว่า “กล้องถ่ายรูปคือมือขวา และอุปกรณ์สำนักงานคือมือซ้าย” และในปี 1969 บริษัทแคนนอนได้เปลี่ยนชื่อจาก Canon Camera Co., Inc. เป็น Canon Inc. จากนั้นในปี 1970 แคนนอนก็ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้ตลาดอุปกรณ์สำนักงานโดยการเปิดตัวเครื่องถ่ายเอกสารตัวแรกของญี่ปุ่น และแคนนอนจะยังคงสรรค์สร้างนวัตกรรม และผลิตภัณฑ์คุณภาพให้หลากหลายพร้อมรับความท้าทายใหม่ๆทางธุรกิจอย่างไม่ย่อท้อ

เอาชนะวิกฤติด้วย Premium Company Plan

ก่อนปี 1970 แคนนอนมียอดขายถึง 44.8 พันล้านเยน มีพนักงานที่มีความสามารถถึง 5,000 คน แต่ด้วยภาวะความผันผวนของเงินดอลลาร์ ราคาน้ำมันและปัญหาอุปกรณ์แสดงผลเครื่องคิดเลขอิเล็กทรอนิกส์ขัดข้อง ในปี 1974 ทำให้แคนนอนตกอยู่ในภาวะประสบปัญหาอย่างหนัก และใน 6 เดือนแรกของปี 1975 แคนนอนประสบปัญหาไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่จดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชน ต่อมาในปี 1976 แคนนอนได้ประกาศแผนการดำเนินงาน Premium Company Plan ซึ่งเป็นกลยุทธ์อันยิ่งใหญ่ที่จะเปลี่ยนให้แคนนอนเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกด้วยการสร้างเครือข่ายธุรกิจในแนวตั้งและวางระบบการพัฒนาธุรกิจ การผลิต และการขายในแนวนอน แผนการดำเนินงาน Premium Company Plan นี้ประสบความสำเร็จอย่างสูงเพราะสามารถปฏิบัติได้จริงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้และดึงศักยภาพของพนักงานออกมาใช้ได้อย่างยอดเยี่ยมทำให้บริษัทสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

เมื่อแคนนอนกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

จากแผนการดำเนินงาน Premium Company Plan แคนนอนจึงเติบโตอย่างอย่างไม่หยุดยั้งสืบเนื่อง และในยุคที่เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเริ่มเข้าสู่ตลาด แคนนอนได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ล้ำสมัยหลายตัว อาทิ เครื่องถ่ายเอกสารส่วนบุคคลที่มีตลับหมึกแบบออล-อิน-วัน, เครื่องเลเซอร์พริ้นเตอร์ที่มีเซมิคอนดัคเตอร์แบบเลเซอร์และเครื่องอิงค์เจ็ตพริ้นเตอร์บับเบิ้ลเจ็ท และในช่วงเวลาเดียวกันแคนนอนก้าวเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์อย่างมั่นใจด้วยกระบวนการผลิตแบบ Global Production ปี 1988 เป็นปีครบรอบ 51 ปีของการก่อตั้งบริษัท และแคนนอนได้ประกาศการเปิดตัวครั้งที่ 2 อย่างยิ่งใหญ่ พร้อมประกาศปรัชญาในการดำเนินงานที่ชื่อว่า “เคียวเซ” ซึ่งยังไม่เป็นที่คุ้นเคยสำหรับคนทั่วไปในเวลานั้น พร้อมกับได้ริเริ่มกิจกรรมเชิงรุกและกิจกรรมส่งเสริมสิ่งแวดล้อมหลายประการ เช่น การรีไซเคิลตลับหมึกและการสร้างศูนย์ศึกษาพัฒนาที่ได้มาตรฐานสากล

แผนการดำเนินงานสู่การเป็นบริษัทชั้นนำของโลก (The Excellent Global Corporation Plan)

แคนนอนสามารถพัฒนาเทคโนโลยีอันล้ำหน้าคู่แข่งและปรับปรุงให้มีความทันสมัยอยู่ตลอดเวลาเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ และผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีใครสามารถทัดเทียมได้ ในช่วงกลางทศวรรษที่ 90 ระบบการดำเนินงาน ที่เคยใช้มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 70 นั้นได้เริ่มมีความล้าสมัย อันเป็นผลให้แคนนอนเกิดหนี้สินเป็นจำนวนกว่า 8 แสน 4 หมื่นล้านเยน และเป็นการส่งสัญญาณว่าทางบริษัทต้องปรับปรุงโครงสร้างทางการเงินขนานใหญ่หากยังต้องการดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาในระยะยาวและขยายโอกาสทางธุรกิจต่อไป มร.ฟูจิโอะ มิตาไร เข้ารับตำแหน่งประธานบริษัทเป็นคนที่ 6 และในปี 1996 แผนการดำเนินงาน Excellent Global Corporation Plan นี้ก็ได้เริ่มเปิดตัวขึ้น อันถือได้ว่าเป็นการปฏิรูปแนวคิดในการตั้งเป้าหมายเพิ่มประสิทธิภาพในแต่ละส่วนสู่การปรับปรุงแบบองค์รวมและการเปลี่ยนเป้าหมายจากการขายสู่การสร้างผลกำไรอย่างแท้จริง แผนการดำเนินงานนี้ได้กลายมาเป็นหัวใจในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆและการวางภาพลักษณ์ของแคนนอนอย่างที่เรารู้จักกันดีในปัจจุบัน

แคนนอนในเอเชีย (นอกเหนือจากญี่ปุ่น)

สำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาคสองแห่งของแคนนอนในเอเชียได้รับมอบหมายให้ดูแลกิจกรรมทางด้านการตลาดและการบริการทั่วทั้งภูมิภาคนี้ โดยสำนักงานแรกคือ Canon China Pte Ltd ในกรุงปักกิ่ง ซึ่งดูแลพื้นที่เอเชียเหนือ ส่วนสำนักงานแห่งที่สองคือ Canon Singapore Pte ในสิงค์โปร์ที่รับผิดชอบพื้นที่เอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แคนนอนมีศูนย์วิจัยและพัฒนาถึง 9 แห่งในเอเชีย สำนักงานในประเทศฟิลิปปินส์มีความเชี่ยวชาญพิเศษในด้านการพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แอพพลิเคชั่นและซอฟต์แวร์ สำนักงานที่อินเดียมีความชำนาญในด้านซอฟต์แวร์ประมวลผลภาพและซอฟต์แวร์อื่นๆ ส่วนห้องปฏิบัติการวิจัยในประเทศจีนทำการพัฒนาเทคโนโลยีในการประมวลผลภาษาจีน เทคโนโลยีการประมวลผลภาพและแอพพลิเคชั่นที่เกี่ยวเนื่องกับอินเตอร์เน็ต

นอกเหนือจากนี้แคนนอนได้สร้างฐานการผลิต 7 แห่งในเอเชียได้แก่ในประเทศจีน มาเลเซีย ไทยและเวียดนาม โรงงานทุกแห่งในเอเชียมีเทคโนโลยีระดับสูงในการผลิตอุปกรณ์ต่างๆ เช่น เลนส์ เครื่องถ่ายเอกสาร พริ้นเตอร์บับเบิ้ลเจ็ต กล้องถ่ายรูปทั้งแบบดิจิตอลและแบบฟิล์ม

แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์)

แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2537 เป็นบริษัทในเครือของบริษัทแคนนอน อิงค์ ประเทศญี่ปุ่น มีพนักงานกว่า 500 คน ตลอดระยะเวลาการดำเนินธุรกิจที่ผ่านมา แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) ได้บริหารและดำเนินงานภายใต้หลักปรัชญา “เคียวเซ” ซึ่งหมายถึงการใช้ชีวิตและการทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม กล่าวคือ ทุกคนในสังคมไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติหรือศาสนาใด สามารถทำงานและใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสมดุลและมีความสุข แคนนอนจึงมุ่งมั่นค้นคว้าวิจัย นำเสนอนวัตกรรมและสินค้าคุณภาพ พร้อมบริการอันเป็นเลิศเพื่อความสุขและรอยยิ้มของคนไทยทุกคน พนักงานแคนนอนทุกคนอุทิศตนเพื่อความพึงพอใจสูงสุดของผู้บริโภค เราพัฒนาด้านการบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั่วประเทศ ด้วย ศูนย์บริการแคนนอน และเครือข่ายศูนย์บริการตัวแทนกว่า 160 แห่งทั่วประเทศ คุณจึงวางใจได้ในทั้งผลิตภัณฑ์และบริการของแคนนอน